วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก และที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรูปแบบลักษณะดำเนินงานตามกลุ่มเทคโนโลยี จึงทำให้บทบาทของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทยไม่โดดเด่น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเร่งผลักดันแผนงานทั้ง 47 แผนงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขัน และพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือASEAN Economics Community(AEC) ใน ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง”
เพื่อให้งานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปผสมผสานกับงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ได้ให้นโยบายและแนวทางการดำเนินงานว่าจะดำเนินการในลักษณะ Project – based โดยในหนึ่งแผนงานจะต้องมีทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกันระหว่างทุกกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังได้สร้างกลไกให้มีผู้แทนของแต่ละแผนงานมาทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนตามแนวทาง 5 กลุ่มงาน โดยจัดการตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ หรือ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การออกแบบ การแปรรูป และการส่งออกสู่ตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value chain) ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการนำร่องแล้วทั้งหมด 47 แผนงานโดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างงาน เช่น เทคโนโลยีการเกษตร การผลิตพันธุ์พืช การเพาะปลูก เป็นต้น โดยจะมีแผนงาน เช่น แผนงานข้าว แผนงานยาง แผนงานข้าวโพด และแผนงานปาล์ม เป็นต้น รวม 13 แผนงาน
2. วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างรายได้ จะเน้นที่การสร้างรายได้หรือเพิ่มมูลค่า เช่น แผนงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีซอฟแวร์ และสารสนเทศดิจิตอล แผนงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนรถไฟและระบบราง รวม 13 แผนงาน
3. วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชีวิต เกี่ยวกับสุขภาพของคน เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุในอนาคต เช่น แผนงานนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับคนไทย แผนงานนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์จากงานวิจัยของประเทศไทย รวม 4 แผนงาน
4. วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างอนาคต คือการพัฒนาไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี ในอนาคต เช่น แผนงานภูมิสารสนเทศกลางของประเทศเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ความมั่นคง และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น อาทิ แผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ : การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ แผนงานขยายการผลิตสาหร่ายเป็นอุตสาหกรรมพลังงานและอาหาร รวม 14 แผนงาน
5. วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างฐานความรู้ โดยดำเนินการร่วมกับนโยบาย Talent Mobility จากการใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้วยนโยบายการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ (Regional Science Parks) ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค